วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ปี2525




เหรียญปั๊มรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช อีกทั้งในการสร้างเหรียญปั๊มครั้งนี้ พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการสร้างอาคารวชิรญาณวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปพร้อมด้วยเหรียญทั้งหมด ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2525 เวลา 17.00 น.
เหรียญปั๊มรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่สร้างขึ้นสืบเนื่องจากวัดบวรนิเวศวิหารและสภากาชาดไทย ได้ดำริที่จะสร้างอาคาร 4 ชั้น ขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อประโยชน์ในการพักรักษาของภิกษุ-สามเณรที่อาพาธ
ในการนี้ คณะผู้ดำริได้ตกลงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้นามอาคารที่จะสร้างว่า "วชิรญาณวงศ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น และวางศิลาฤกษ์อาคารใหม่นี้เมื่อเมษายน 2525 ซึ่งเป็นช่วงของการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
โดยเหรียญปั๊มนี้ด้านหนึ่งมีพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และอีกด้านหนึ่งได้ขอพระราช ทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานไว้ พร้อมกับขอพระราชทานให้การสร้างอาคารดังกล่าวอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาทุกประการ จึงได้จารึกอักษรไว้ในเหรียญว่า "รัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525 สร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์" ได้ทำพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันจันทร์ที่ 26 เมษา ยน พ.ศ.2525 เวลา 18.39-21.19 น. โดยมีพระเกจิอาจารย์นั่งปรกปลุกเสก คือ
1.พระราชวุฒาจารย์ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
2.พระชินวงศาจารย์ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
3.พระอุดมสังวรเถร(อุตตมะ) วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี
4.พระโพธิสังวรเถร(ฑูรย์) วัดโพธิ์นิมิตร กทม.
5.พระปัญญาพิศาลเถร วัดราชประดิษฐ์ กทม.
6.พระครูสุตาธิการี(ทองอยู่) วัดหนองพะอง จ.สมุทรสาคร
7.พระครูโสภณกัลยาณวัตร(เส่ง) วัดกัลยาณมิตร กทม.
8.พระครูมงคลญาณสุนทร(ผ่อง) วัดจักรวรรดิฯ กทม.
9.พระอาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี
10.พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์(ไพบูลย์) วัดรัตนวนาราม จ.พะเยา
11.ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน
12.พระครูสันติวรญาณ(ฉิม) วัดถ้ำผาป่อง จ.เชียงใหม่
13.พระสุพรรณ ปิยธโร วัดเวฬุวนารามฉะเลียงลับ จ.เพชรบูรณ์
14.ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่
15.พระอาจารย์สุวัฒน์ วัดถ้ำศรีแก้ว จ.สกลนคร

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแวง วัดบ้านกระโพ ปี2516



เหรียญรุ่นแรก ปี2516
พระครูสุวรรณปัญญาจารย์ (หลวงพ่อแวง สุวณณปัญโญ ) วัดบ้านกระโพ ต.บ้านกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
สร้างในวาระฉลองพัดยศ สร้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธุ์ ปี2516 สร้างประมาณ 2,000 เหรียญ ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญหยดน้ำแบบพัดยศ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อแวง หน้าตรงครึ่งองค์ ด้านล่างระบุว่า หลวงพ่อแวง สุวณณปัญโญ
ด้านหลังเป็นยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ ใต้ยันต์ระบุว่า วัดบ้านกระโพ ต.บ้านกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
สร้างพร้อมเหรียญรุ่นแรกพระครูวิบูลธรรมวาที (หลวงพ่ออ้วน) วัดสุวรรณอินทร์ทอง (บ้านหนองตาด)
ทำพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเถราจารย์ ดังนี้
1.หลวงพ่อทุม ปริสุทโธ วัดใหญ่จอมพระ อ.จอมพระ
2.พระครูบุญสิริโสภณ (หลวงพ่อบุญศรี ปารคามี) วัดธาตุ อ.สนม
3.พระครูถาวรธรรมรัตน์ (หลวงพ่อเที่ยง ) วัดเลี่ยบ (บ้านไผ่ ) อ.รัตนบุรี
4.พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินทปัญโญ) วัดปราสาทเยอร์ อ.ขุขันธุ์
5.หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง
6.พระครูอุดมวรเวท (หลวงปู่เจียม อติสโย) วัดอินทราสุการาม (หนองยาว) อ.สังขะ
7.พระครูวิบูลย์ธรรมวาที (หลวงพ่ออ้วน ) วัดสุวรรณอินทอง (บ้านหนองตาด ) อ.ท่าตูม
8.พระครูสุวรรณปัญญาจารย์ (หลวงพ่อแวง สุวณณปัญโญ) วัดบ้านกระโพ อ.ท่าตูม เจ้าพิธี
วัตถุมงคลของท่าน เป็นที่ศรัทธาของประชาชนชาวส่วนมาก เพราะท่านเองก็เป็นครูบาอาจารย์ของชาวส่วย
เด่นด้าน มหาอุตม์ แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง เมตตามหานิยม ค้าขายดีนักแล
ปัจจุบันหายากพอสมควร ราคาเล่นหาก็อยู่ที่หลัก ร้อยปลาย ถึงพัน ต้นๆครับ
***อ้างอิงจากหนังสือประวัติ พระครูวิบูลย์ธรรมวาที (หลวงพ่ออ้วน) วัดสุวรรณอินทอง(บ้านหนองตาด) อ.ท่าตูม

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระครูสังวรานุโยค (ช่อ ปัญญาทีปมหาเถระ)


พระครูสังวรานุโยค (หลวงพ่อช่อ ปญญาทีปมหาเถระ)

วัดโคกเกตุบุญญสิริ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อช่อ พระเกจิขวัญใจคนยาก
ชาวสมุทรสงครามส่วนใหญ่ต่างรู้จักชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างดี “พระครูสังวรานุโยค” หรือ”หลวงพ่อช่อ ปญฺญาทีปมหาเถระ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดโคกเกตุบุญญสิริ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันอายุ 86 พรรษา 64 


ท่านเป็นพระผู้เฒ่าที่คงแก่เรียน ด้วยยึดคติประจำใจว่า (คนเราทุกคนไม่มีใครแก่เกินเรียน) ปัจจุบันถึงหลวงพ่อช่อจะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังคงปฏิบัติกิจสงฆ์ลงสวดมนต์ทำวัตรไม่เคยขาดทำไม่ได้ก็คือการบิณฑบาต เพราะด้วยสภาพร่างกายที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่จะลงศาลาฉันภัตตาหารร่วมกับพระภิกษุในวัดตลอด 
ภาพที่ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาคุ้นตา ในช่วงเย็นของทุกวันจะเห็นพระลูกศิษย์เข็นรถ 2 ล้อที่ทำด้วยไม้เก่าๆ จากกุฏิโดยมีหลวงพ่อช่อนั่งยองๆ เพื่อลงไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นในอุโบสถ ความแก่ชราและอายุที่มากขึ้นทุกวัน ไม่เป็นอุปสรรคกับความจำของท่านเลย หลวงพ่อช่อยังคงท่องมนต์สวดปาฎิโมกข์ได้แม่นยำ จะเสื่อมไปก็บ้างก็คือดวงตาในการมอง และหูในเรื่องการรับฟัง หากลูกศิษย์อยากสนทนาด้วยต้องพูดจาดังๆ 

หลวงพ่อช่อ สนใจทางธรรมตั้งแต่จำความได้ขนาดยังไม่ได้บวชเป็นพระ บิดามารดาก็จะพาเข้าวัดตลอด ฝึกในการท่องบทสวดมนต์ ไม่ซุกซนชอบยิงนกตกปลาฆ่าสัตว์เหมือนเด็กๆ ทั่วไป ประมาณปี พ.ศ.2488 ได้อุปสมบท โดยมีหลวงพ่อชุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วได้เรียนและศึกษาพระปริยัติธรรมตลอด เคยได้เข้าไปศึกษาธรรมกับ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งหลวงพ่อสดยกให้เป็นศิษย์โปรด เพราะหลวงพ่อช่อเป็นศิษย์ที่ว่านอนสอนง่ายความจำดีเป็นเลิศ 

ปี พ.ศ. 2495 ได้รับบัญชาจากพระผู้ใหญ่ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเกตุบุญญสิริ ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สืบต่อจากอดีตเจ้าอาวาสเดิม รูปแรกคือ หลวงปู่บุญมี ซึ่งในขณะนั้น เป็นวัดที่ขาดการพัฒนา ไม่มีแม้กระทั่งอุโบสถ ด้วยความเป็นพระนักพัฒนา และมีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธามาก หลวงพ่อช่อได้ปรับพื้นดินบริเวณวัดที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังทุกปี ให้เป็นที่สูงพ้นน้ำ เริ่มก่อสร้างอุโบสถ 4 มุก 2 ชั้น ในปี พ.ศ. 2521 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านบาทเศษ เงินที่นำมาจัดสร้างทุกบาททุกสตางค์ท่านไม่เคยเรี่ยไร ปัจจัยที่หามาได้เกิดจากความศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนทั้งสิ้น นอกจากจะพัฒนาวัดโคกเกตุจนเจริญรุ่งเรืองแล้วท่านยังสร้างวัดบ้านกล้วย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรีควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่รับรู้ทั่วกันคือ หลวงพ่อช่อเป็นคนดุ แต่ความจริงท่านเป้นพระที่เมตตาท่านจะเข้มงวดเฉพาะในเรื่องยาเสพติดและการพนันไม่สงเสริมให้เข้ามาแพร่หลายภายในวัด หากเห็นใครเสพหรือขายจะโดนไล่ตะเพิดทันที 
การส่งเสริมการเล่าเรียนของพระภิกษุในวัดเป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านเน้นเป็นพิเศษ พระลูกวัดทุกรูปที่อยู่ภายใต้การปกครองต้องเรียนหนังสือ ท่องมนต์ ในทุกวันพระทุกรูปต้องมท่องให้ฟัง หากท่องได้จะได้รับคำชม ส่าวนพระที่ไม่ชอบสวดมนต์ไหว้พระจะอยู่กับท่านไม่ได้ ท่านบอกว่าบางครั้งการอบรมสั่งสอนคน จะพูดคำหวานๆเสมอไม่ดีต้องมีการพูดถูกแพงๆปะปนกันไป 

หลวงพ่อช่อ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในเรื่องนำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ มากพุทธคุณเด่นทางด้านเมตตามหานิยม และค้าขาย แทบทุกคืนตลอด 9 เดือน กับ 19 วันท่านไม่เคยว่างเว้นจะต้องนั่งสวดมนต์ท่องบทคาถาปลุกเสกน้ำมนต์ไว้อย่างน้อยวันละ 3 ตุ่มใหญ่เพราะในแต่ละวันจะมีบรรดาลูกศิษย์ลูกหามาขอน้ำมนต์ไปบูชาประพรมร้านค้า ซึ่งได้ผลเป็นที่ประจักษ์นับไม่ถ้วน

ในอดีตท่านเคยได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก นั่งปรกอธิฐานจิตวัตถุมงคลร่วมกับ หลวงพ่อสุด วัดกาหลง พระอาจารย์ที่โจรร้ายในอดีตที่นามว่า (ตี๋ใหญ่)เลื่อมใสศรัทธาพิเศษปัจจุบันวัตถุมงคลของหลวงพ่อช่อโด่งดังจนเป็นที่แสวงหาของนักสะสม 2 รุ่นถือว่ามีราคาเหรียญหลวงพ่อช่อ ปี 2519 รุ่นผูกพัทธสีมาสร้างประมาณ 20,000เหรียญ ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลศิลป์และพระสมเด็จรุ่นกระสุนแบน และพระของขวัญ 

หลวงพ่อช่อ ได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ขวัญใจคนยาก ใครเดือดร้อนมาได้ฟังเทศนาของท่าน ท่านก็ผ่อนคลายสบายใจ แถมยังได้น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเปรียญเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจไปบูชาด้วย


อ้างอิง : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2546 คอลัมน์พระเครื่อง หน้า 27



วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระแก้วมรกต หลัง ภปร. ปี2530




พระแก้วมรกต หลัง ภปร. เนื้อผง พิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ์ วัดบวรนิเวศน์ฯ และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ปี 2530
ดำเนินการจัดสร้างโดย "วัดบวรนิเวศน์ฯ"
วัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง เฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2530
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในการประกอบพิธี ณ พระอุโบสถ์ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เมื่อวันเสาร์ที่ 12 เม.ย. 2529
สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธาน พิธีมหาพุทธาภิเษก ทรงอธิฐานจิต และพระคณาอาจารย์ ผู้ทรงศีลาจริยวัตร ร่วมพิธี ดังนี้
พระญานโพธิ์ (เข็ม) วัดสุทัศน์
ลป. เมฆ วัดลำกระดาน
ลพ. สิม วัดถ้ำผาปล่อง
ลพ. สำเนียง วัดเวฬุวนาราม
ลพ. พุทธ ฐานิโย
ลพ. มงคล ธรรมสุนทร วัดบางนา
ลพ. เกตุ วัดเกาะหลัก
ลพ. พรหม วัดขนอนเหนือ
ลพ. หยอด วัดแก้วเจริญ
ลพ. พูล วัดไผ่ล้อม
ลพ. แช่ม วัดดอนยายหอม
ลพ. ไพฑูรย์ วัดโพธินิมิต
ลพ.เนื่อง วัดจุฬามณี ฯลฯ
- สภาพสมบูรณ์ สวยเดิม ๆ
ข้อมูลจากหนังสือ : วัตถุมงคลวัดบวรนิเวศน์ หน้า 110

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

พระราชภาวนาพินิจ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย)

พระราชภาวนาพินิจ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) 
วัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 


พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย) มีนามเดิมว่า สนธิ์ คำมั่น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2477 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ บ้านโนนชาติ อ.เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเป และนางกัน คำมั่น ครอบครัวมีอาชีพทำนา 

ในช่วงวัยเยาว์ ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านสร้างมิ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน แม้จะอยู่ในวัยเด็กแต่มีนิสัยรักสงบ เชื่อฟังโยมบิดา-โยมมารดา กลัวบาป ท่านมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกัน มีความคิดอยากจะบวช และปรารภอยากไปอยู่วัด แต่โยมมารดาไม่ยอมให้ไป 

การอุปสมบท 

กระทั่งตอนอายุ 18 ปี ได้มีโอกาสเดินทางไปที่วัดป่าอุดมสมพร (วัดหลวงปู่ฝั้น อาจาโร) ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้เห็นความอัศจรรย์ และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง จึงตัดสินใจออกบวช แต่ช่วงนั้นได้เตรียมตัวก่อนบวช ต้องสวดมนต์และทานข้าวมื้อเดียว ร่างกายซูบผอมลง แต่สุดท้ายท่านไม่ได้บวชเรียน ต้องกลับมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ 

อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีความคิดอยากจะบวชอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดท่านได้นึกถึงที่โยมมารดาสั่งเสียไว้ว่า “จะทำอะไรจะมีครอบครัวก็ให้บวชเสียก่อน ขอให้บวชให้แม่ก่อน” 

ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยัง จ.สกลนคร และเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2497 โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อนาลโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่มีความอาลัย”
หลังอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม ได้ปฏิบัติเดินจงกรม ฝึกภาวนา พิจารณากัมมัฏฐานตามที่พระอุปัชฌาย์บอก จนเกิดความรู้สึกปีติยินดี 

ปี พ.ศ.2498 พระอาจารย์กว่า สุมโน ไม่มีผู้ใดอุปัฏฐาก ท่านต้องกลับไปดูแลปรนิบัติรับใช้ และมาเรียนหนังสือที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร วันแรกที่ไปอยู่วัดป่าสุทธาวาส ได้เกิดนิมิตว่าผีเจ้าของที่มาคอยหลอกหลอนรบกวน ท่านจึงปรารภความเพียรยิ่ง ระลึกถึงพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำความเพียรภาวนาต่อเนื่องกระทั่งจิตสงบสบาย จิตใจมีแต่ความเมตตาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 





๏ ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 

ต่อมาท่านได้ไปอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ บังเอิญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ขึ้นไปจังหวัดสกลนคร ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส ได้ให้คนไปตามพระอาจารย์สนธิ์ให้ไปหาที่วัดป่าสุทธาวาส 

หลวงปู่เทสก์จึงได้พาพระอาจารย์สนธิ์ไปอยู่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2499 ได้อยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด โดยท่านให้พระอาจารย์สนธิ์อยู่กุฏิเดียวกับท่าน 

พระอาจารย์สนธิ์ชื่นชมในปฏิปทาของหลวงปู่เทสก์ ได้ปฏิบัติต่อหลวงปู่อย่างสม่ำเสมอ หลังจากถวายนวดเส้นแล้วก็จะออกมาปฏิบัติเดินจงกรมก่อนที่จะพักผ่อน 


๏ มาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา 

ครั้นต่อมา ท่านมีความคิดที่อยากไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะอายุพรรษายังน้อย อยากเรียนบาลี จึงกราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งหลวงปู่เทสก์ก็ไม่คัดค้าน โดยมาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา ต่อมาท่านมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ 

ทั้งนี้ หลวงพ่อสนธิ์ได้เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า “ที่วัดพุทธบูชาในขณะนั้นบิณฑบาตลำบาก จะบิณฑบาตแต่ละครั้งก็ยาก ต้องลุยโคลนลุยเลนลำบากมาก เกิดมีมานะขึ้นมา ถ้าอย่างไรก็เรียนก่อนเถอะ ได้ตั้งใจมาแล้วต้องอดทนอยู่ต่อไป” 

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้รับกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องต่อเครื่องบินจากเมืองดัลลัส ไปลงที่รัฐเทนเนสซี่ ระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ เกิดเหตุอากาศแปรปรวนและเครื่องบินเกิดมีปัญหา ทำให้เครื่องบินสั่นเสียการทรงตัว 

ผู้โดยสารบนเครื่องบินเกิดอาการหวาดกลัวว่าเครื่องบินจะตก หลวงพ่อได้นั่งภาวนาจนจิตนิ่ง จึงกำหนดจิตภาวนา เมื่อจิตสงบนิ่ง รู้สึกว่าจิตนิ่ง และไม่คิดเสียดายชีวิต ยอมตาย และรู้สึกว่ากายหายไป ในขณะนั้นได้มีเสียงมากระซิบว่า “ไม่ตายๆ” ปรากฏว่าเครื่องบินได้เปลี่ยนเส้นทางบินมาลงจอด เพื่อซ่อมเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย 

๏ สร้าง “วัดป่าภูปัง” 

คราวหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้นิมิตว่า หลวงพ่อได้ไปสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวและมีความ ยินดีเมื่อหลวงพ่อสนธิ์เดินทางไปถึง หลวงพ่อสนธิ์ได้จดจำลักษณะของสถานที่แห่งนั้นได้เป็นอย่างดี และได้สอบถามไปยังผู้ที่รู้จักอยู่เสมอ เพื่อที่จะแสวงหาสถานที่แห่งนั้น 

จนกระทั่ง พระอาจารย์บุญชวน ธัมมโฆสโก แห่งวัดป่าวังน้ำทิพย์ ต.สวาท อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ได้กราบเรียนหลวงพ่อสนธิ์ถึงเขาแห่งนั้น ในเขต อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เมื่อหลวงพ่อไปถึงเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะตรงตามในนิมิตทุกประการ จึงได้ชักชวนคณะศรัทธาญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ มาพัฒนาสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็น “วัดป่าภูปัง” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยได้สร้างศาลา 3 ชั้นขึ้นจนสำเร็จ 

ถัดมา หลวงพ่อสนธิ์ได้หล่อรูปจำลองพระพุทธพิชิตมาร ขนาดหน้าตัก 80 นิ้ว โดยจำลองจากพระพุทธพิชิตมาร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาอุรุพงษ์ วัดบรมนิวาส เพื่อนำไปประดิษฐานที่วัดป่าภูปัง โดยหลวงพ่อได้ดูแลการปั้นหุ่นรูปจำลองอย่างใกล้ชิด และได้นิมนต์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นประธานในการเททอง และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นประธานในการเจริญพระพุทธมนต์ ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ที่มีเหตุฝนตกโปรยปรายลงมา 


๏ เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา 

พ.ศ.2542 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชาว่างลง คณะกรรมการวัดพุทธบูชาจึงมาขอความเมตตาให้หลวงพ่อสนธิ์รับเป็นเจ้าอาวาส โดย สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกวี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น) ได้เห็นชอบให้หลวงพ่อสนธิ์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมา 

ทุกวันนี้ “พระราชภาวนาพินิจ” หรือ “หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย” ยังคงสืบพัฒนากิจวัตรงานสงฆ์ และพัฒนาจิตใจฆราวาสอยู่เป็นเนืองนิตย์ ด้วยคติธรรมประจำใจ “อยู่ให้ดี มีธรรมประจำจิต อย่าไปคิดทำชั่วให้มัวหมอง มาดีคิดดี พระธรรมย่อมคุ้มครอง จิตผุดผ่อง สงบดี เพราะมีธรรม”